#ChonsDo “การท่องเที่ยววิถีชุมชน” ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเดินทางของนักท่องเที่ยวหลายคน ภาพวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ใกล้ชิดกับธรรมชาติ แต่มีพลวัติและความยั่งยืน เป็นจุดมุ่งหมายที่ชวนให้ไปสัมผัสเสน่ห์แบบ “บ้าน ๆ” เสมอ
เช่นเดียวกับชุมชนตะเคียนเตี้ย อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ที่มีวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวตำบลตะเคียนเตี้ย เร้นตัวอยู่ภายใต้ทิวมะพร้าวนับร้อยนับพันต้น วิสาหกิจฯ แห่งนี้ ก่อตั้งขึ้นมากว่า 11 ปีแล้ว ด้วยมือของคนภายในชุมชนตะเคียนเตี้ยเอง
วันดี ประกอบธรรม ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวตำบลตะเคียนเตี้ย คือคนที่ Chons Do จะพามารู้จักกันในวันนี้ เธอคือผู้กลับมารันบ้านเกิด หลังจากไปทำงานในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ ณ ตัวเมืองพัทยา และกลับมารันบ้านเกิดกว่า 10 ปีแล้ว
พี่วันดีพาทีมงานเดินชมสวนหลังบ้านร้อยเสา บ้านที่พี่วันดีเกิดและเติบโตขึ้นมา พร้อมกับพี่น้องอีก 6 คน บ้านหลังนี้มีเสาทั้งสิ้น 102 ต้นตามชื่อ และที่นี่คือจุดเริ่มต้นของวิสาหกิจชุมชนอันแข็งแรงของชาวตะเคียนเตี้ย
“แรก ๆ เราเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ให้เยาวชนก่อน พี่สาวเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนเมืองพัทยา 9 ก็พาเด็กมาเรียนรู้วิถีชุมชนก่อน หน่วยงานแรก ๆ ที่มาช่วยเหลือก็คือเกษตรอำเภอ เรื่องปลูกผักปลอดสาร ทำปุ๋ยหมัก แล้วปี 2555 อพท. (องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน) ก็มาช่วย” พี่วันดีเล่าให้ฟังระหว่างเชื้อเชิญให้ชมสวนหลังบ้าน ซึ่งในปี พ.ศ. 2555 พัทยาถูกประกาศให้เป็นพื้นที่พิเศษเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จึงเกิดการกระจายนักท่องเที่ยวกว่า 11 ล้านคนต่อปี ออกมายัง 9 ตำบลรอบ ๆ เมืองพัทยานั่นเอง
“แรก ๆ เราเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ให้เยาวชนก่อน พี่สาวเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนเมืองพัทยา 9 ก็พาเด็กมาเรียนรู้วิถีชุมชนก่อน หน่วยงานแรก ๆ ที่มาช่วยเหลือก็คือเกษตรอำเภอ เรื่องปลูกผักปลอดสาร ทำปุ๋ยหมัก แล้วปี 2555 อพท. (องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน) ก็มาช่วย” พี่วันดีเล่าให้ฟังระหว่างเชื้อเชิญให้ชมสวนหลังบ้าน ซึ่งในปี พ.ศ. 2555 พัทยาถูกประกาศให้เป็นพื้นที่พิเศษเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จึงเกิดการกระจายนักท่องเที่ยวกว่า 11 ล้านคนต่อปี ออกมายัง 9 ตำบลรอบ ๆ เมืองพัทยานั่นเอง
ระหว่างที่เดินไปคุยไป พี่วันดีก็พามารู้จักกับพี่สาโรช โรจน์สกุลพานิช เกษตรกรมือเก๋าผู้กำลังกุลีกุจอเก็บ “ว่านสาวหลง” อยู่ ซึ่งว่านสาวหลงนั้นสามารถนำไปสกัดน้ำมันหอมระเหย ได้กลิ่นอโรมาเธอราพี หรือที่พี่สาโรชกล่าวไว้ว่าเป็น “สุคนธบำบัด” ได้
“ว่านสาวหลงจะขึ้นตามป่า ไม่ชอบแดด หายากครับ ไม่ค่อยมีคนปลูก เมื่อก่อนจะปลูกกันด้านความเชื่อเรื่องมหาเสน่ห์ แต่ตอนนี้เราก็เอามาต่อยอด ทำเครื่องสำอางได้” อดีตนักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รุ่นแรก เล่าให้ฟังถึงสรรพคุณของว่านชื่อกระตุกหูชนิดนี้
นอกจากนั้น ประธานวิสาหกิจชุมชนคนรักมะพร้าวบ้านตะเคียนเตี้ยอย่างพี่สาโรช ยังสำทับถึงความสำคัญของวิสาหกิจชุมชนอีกว่า มันมีผลต่อชุมชนเยอะมาก ทั้งกลุ่มที่เข้ามาร่วม และร้านอาหารที่รับลูกค้าไม่หวาดไม่ไหว รวมถึงมีแหล่งท่องเที่ยวชุมชน และในเชิงแคมป์ปิ้งเกิดขึ้นเยอะมากในปัจจุบัน
แน่นอนว่าเมื่อเป็นที่รู้จัก นั่นหมายถึงเม็ดเงินที่เข้ามาจากธุรกิจท่องเที่ยวชุมชน พี่วันดีเผยว่าที่นี่สามารถรับนักท่องเที่ยวจากหลากหลายกลุ่มได้สูงถึง 400 - 500 คนต่อเดือน และมีรายได้เข้ามาจุนเจือกลุ่มก้อนต่าง ๆ ที่เข้ามาร่วมผลักดันบ้านเกิดกว่า 200,000 บาทเลยทีเดียว ถือว่าเป็นสิ่งที่จะเข้ามาเพิ่มเติมจากรายได้ในการเป็นชาวสวน และงานทั่วไปในชุมชนอีกด้วย
แต่ถึงอย่างนั้น การกลับมา “รัน” บ้านเกิดทั้งที พี่วันดีมองการณ์ไกลกว่านั้น เธอตั้งใจว่าอีก 2 ปีข้างหน้า จะยกระดับวิสาหกิจชุมชน ให้เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมให้ได้ เพื่อนำรายได้มาช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน ซึ่งถือเป็นความคิดที่ก้าวหน้าไปไกลว่าการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงชุมชน เพราะยังคำนึงถึงการเตรียมเป็น Aging Society ของประเทศไทยในเวลาอันใกล้นี้
“เราจะเอารายได้มาแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุในชุมชน ละก็ผู้ป่วยติดเตียง จ้าง Caregiver มาดูแล เรามีการเก็บเงินจากนักท่องเที่ยว 20 บาท แบ่งครึ่งนึงมาให้คนแก่ อีกครึ่งก็มาทำเรื่องหน้าบ้านน่ามอง ช่วยกันเรื่องของการปรับปรุงภูมิทัศน์”