#ChonsDo ส่งสุขรสอร่อย จากครอบครัวสู่ครอบครัวที่ “ยุ้งก๋ง ฟาร์ม & คาเฟ่”

#ChonsDo
ออม พสชนัน - ปุ้ย รัตติยา ส่งสุขรสอร่อย จากครอบครัวสู่ครอบครัวที่ "ยุ้งก๋ง ฟาร์ม & คาเฟ่"

“เหมือนมาบ้านตาบ้านยายเลยแฮะ” ความรู้สึกแรกที่ผุดเข้ามาเมื่อได้ย่างเท้าเข้ามาเห็นบ้านไม้สองชั้นสุดคลาสสิคทางขวา โรงเรือนปลูกผักออร์แกนิคทางซ้าย และคาเฟ่ชิค ๆ ที่เคยเป็น “ยุ้งข้าว“ ของก๋ง หรืออากงของคุณออม พสชนัน ธรรมนิติเวทย์ หนึ่งในผู้ริเริ่ม “ยุ้งก๋ง ฟาร์มแอนด์คาเฟ่” ร้านอาหารที่ทำโดยครอบครัว เพื่อส่งต่อความสุขไปยังอีกหลายครอบครัว แห่งอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี และนี่คือ Chons Do คอลัมน์ที่จะพาไปดูคนชลบุรีที่ทำสิ่งดี ๆ ที่บ้านเกิดกัน

ยุ้งก๋ง ฟาร์มแอนด์คาเฟ่ เกิดขึ้นหลังจากพิษโควิด-19 ที่ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก เช่นเดียวกับคุณปุ้ย รัตติยา ดีเจริญ อีกหนึ่งคนที่อยู่กับร้านมาตั้งแต่ Day 1 เพราะต้องโบกมือลาการเป็นแอร์โฮสเตส มุ่งหน้าสู่การขายอาหารเดลิเวอรี่ ที่คุณแม่เป็นคนปรุง

กว่าครึ่งปี ที่ลุยขายอาหารเดลิเวอรี่มา ประจวบเหมาะกับคุณออม ที่ปลูกผักไฮโดรโปนิกขายอยู่แล้ว ทั้งสองคนเลยควงแขนกัน ตั้งเป้าจะเปิดร้านกาแฟ และตัดสินใจชวนคุณแม่มาเป็นแม่ครัวมือหนึ่งของร้าน ซึ่งทั้งคู่เล่าให้ฟังว่า การเปิดหรือไม่เปิดร้านในวันนั้น ขึ้นอยู่กับคำตอบตกลงของคุณแม่เลยทีเดียว

หลังจากนั้น อดีตวิศวกรและอดีตแอร์โอสเตส ก็เดินหน้าปรับปรุงพื้นที่บ้านสวนเก่าของครอบครัวคุณออม เนรมิตให้เป็นร้านกาแฟก่อนเป็นเฟสแรก เริ่มจากการปรับปรุงยุ้งข้าวเก่า ให้กลายเป็นโซนร้านกาแฟน่านั่ง

“คอนเซปต์คือเอายุ้งมาทำร้านกาแฟก่อน ชื่อก็มาจากอันนี้นี่แหละ เพราะมันเป็นที่ของก๋ง เรายืมของเขามาใช้ ก็เลยตั้งชื่อนี้” คุณออมเอ่ยถึงแรงบันดาลใจของชื่อร้าน

และทั้งสองคน ก็เจอกับวลีที่ว่า การเริ่มต้นใหม่นั้นยากเสมอ แม้จะใช้ประสบการณ์ชีวิต ทั้งการด้านการบริการจากประสบการณ์เป็นแอร์ฯ ของคุณปุ้ย หรือการบริหารงานของคุณออมที่เคยใช้ชีวิตอยู่ที่ออสเตรเลีย มาบริหารจัดการร้านแล้ว แต่ปัญหาก็ยังเกิดขึ้น ทั้งทิศทางร้านที่ยังไม่ชัดเจน หรือความล่าช้าในการทำอาหาร เนื่องจากแม่ครัวคนเก่งมีเพียงหนึ่งเดียว คือคุณแม่ของคุณปุ้ยนั่นเอง

นอกจากนั้นแล้ว การโปรโมตร้านยังเป็นเรื่องยาก เพราะร้านยุ้งก๋งฯ เองต้องเลยออกมาจากตัวอำเภอพนัสนิคมพอสมควร อีกทั้งโควิดที่ยังแวะเวียนมาซ้ำเติมอีกหลายระลอก แต่ไม้ตายของทั้งคู่ก็ไม่ใช่อะไรที่ซับซ้อน แต่มันคือความใส่ใจในทุกจาน และความซื่อสัตย์ต่อตนเองและลูกค้า ที่ป็นหัวใจสำคัญของร้าน

และเมื่อความตั้งใจมันถูกส่งต่อไปยังทุก ๆ เมนูที่เสิร์ฟไป คนที่มากินก็จะได้รับรู้ความรู้สึกนั้น ทำให้เริ่มมีลูกค้าประจำ มีการบอกปากต่อปากถึงรสชาติอันยอดเยี่ยม และเริ่มมีคนแชร์บรรยากาศแสนน่ารักของร้านออกไปในโซเชียลมีเดีย จนร้านเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อย ๆ

และถ้าเปรียบความตั้งใจเป็นหมัดแรกแล้ว หมัดฮุคที่จัดการคนกินลงไปนอนกองด้วยความอร่อย ก็คงเป็นวัตถุดิบที่สดทุกอย่าง โดยเฉพาะผักที่คุณออมเน้นย้ำมาก ๆ
“ในสวน ผักเมนหลัก จะมีผักสลัด คะน้า สะระแหน่ คึ่นช่าย ผักใบ ผักหอมต่าง ๆ ผักบางตัวที่ไม่มี ก็จะเดินตลาดเข้าพนัสฯ นี่แหละ เราจะเลือกผักบ้าน เพราะมันสดใหม่ แข็งแรง กินแล้วรู้เลยครับ หรืออย่างโหระพา ต้องผักบ้านเท่านั้น เพราะกลิ่นมันชัด มันส่งผลต่อเครื่องแกง”

ออม พสชนัน - ยุ้งก๋ง ฟาร์ม & คาเฟ่

เช่นเดียวกับวัตถุดิบอื่น ๆ ที่ก็ต้องพิเศษเช่นกัน ยกตัวอย่างกุ้ง ก็ต้องเลี้ยงในบ่อน้ำกร่อย หรือปลากะพง ต้อเลี้ยงทะเลเท่านั้น เพื่อไม่ให้มีกลิ่น ซึ่งฟีดแบ็คที่กลับมาจากลูกค้า มันเหมือนเครื่องยืนยันว่า สิ่งที่พวกเขาตั้งใจ ได้ถูกส่งต่อไปยังลูกค้าจริง ๆ

ซึ่งในวันที่เราได้ไปเยือนยุ้งก๋งฯ ก็สัมผัสได้ถึงการมากินข้าวบ้านญาติผู้ใหญ่ มัน “สบายเนื้อสบายตัว” เหมือนที่ทั้งคู่พูดจริง ๆ เมนูที่เราได้ลองชิมมีเมี่ยงปลากะพง, ปลาทูทอดราดพริกสด และไก่ตะเกียบ ซึ่งล้วนเป็นเมนูแนะนำทั้งสิ้น เราขอบอกเลยว่าทั้งคุณภาพและปริมาณเกินคุ้ม ผู้เขียนเองติดอกติดใจกับเมนูปลาทูฯ มาก ๆ จนอยากจะโค้งคำนับแม่ครัวเลยจริง ๆ

นอกจากความอิ่มท้องจากอาหารเลิศรส กาแฟอร่อย ๆ แล้ว ผู้ที่มาเยือนยังได้รับความอิ่มใจกลับไปด้วย ดังที่คุณออมได้คุยไว้ว่า เป้าหมายหลักของลูกค้าก็คือครอบครัว และลูกหลานที่พาผู้สูงอายุมากินข้าวนอกบ้าน เพราะเราได้เห็นหลายครอบครัวตบเท้าเข้ามารับความสุขที่ส่งตรงออกมาจากครัว ไหนจะบรรยากาศสบาย ๆ และยังมีสัตว์เลี้ยงให้เล่น ชมความน่ารัก รอระหว่างการปรุงด้วย

ซึ่งพอยต์นี้ ทั้งสองอยากให้ลูกค้าเข้าใจเช่นกัน เหตุผลของการให้โทรจองนั่นเป็นเพราะกำลังคนในครัวนั้นน้อยนิด สวนทางกับคุณภาพที่คับจานมาก ๆ ทางร้านไม่อยากให้รอนาน จึงตัดสินใจใช้วิธีการโทรจองก่อน เพื่อที่จะไม่ได้เสียความรู้สึกกัน เพราะทุกจานใช้ความใส่ใจในการปรุง เวลาก็จะแปรผันนานตามไปด้วย แต่จากประสบการณ์ของผู้เขียนเองนั้น บอกเลยว่าคุ้มค่าการรอ
และเมื่อถูกถามถึงคำแนะนำในฐานะของคนรุ่นใหม่ ที่กลับมาพัฒนาหรือต่อยอดบางสิ่งบางอย่างที่บ้านเกิด คุณออมตอบมาอย่างรวดเร็วว่า มีคนเข้ามาคุยเรื่องการกลับมาทำเกษตรที่บ้านเกิดกับตัวเขาเยอะมาก แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องมีคือ คุณต้องเริ่มลงมือ ต้องอดทน เรื่องเงินมันสำคัญก็จริง แต่การเริ่มต้นมันสำคัญกว่า ไม่ต้องเริ่มใหญ่ แต่ต้องกล้าเริ่มก่อน แล้วจะเห็นทิศทางการแก้ปัญหาไปเรื่อย ๆ เอง ถ้าไม่เริ่มก็ได้แค่อยากทำอยู่อย่างนั้น

“สำคัญคือ ของเราดี ของเราเจ๋ง ของเราคุณภาพ เรื่องการขายมันเรื่องรอง เราต้องซื่อสัตย์กับของ ๆ เรา มันจะเป็นแบรนดิ้งของมันเอง” คุณออมสรุปสั้น ๆ ให้เราถึงธงในใจ และคุณปุ้ยก็เสริมสิ่งสำคัญมาว่า “ต้องอดทน มันจะมีช่วงดาวน์มาก ๆ แต่ถ้าเจออุปสรรค เดี๋ยวมันจะมีทางออกของมันเอง”

ก่อนจบบทสนทนา เราได้ลองให้ทั้งคู่ขายความเป็นยุ้งก๋ง ฟาร์มแอนด์คาเฟ่ ปิดท้ายให้เราหน่อย ว่าของดีคืออะไร คุณปุ้ยเลยตอบมาแบบง่าย ๆ แต่หมดจดว่า “ของดียุ้งก๋งคืออาหารอร่อย ความสดของวัตถุดิบ ความใส่ใจทุกขั้นตอน ถ้าเข้ามาคือบรรยากาศอบอุ่น สูดอากาศบริสุทธิ์ ทานอาหารอร่อย ๆ ได้ทั้งสุขภาพและอารมณ์ที่ดี” ก่อนเธอจะตบท้ายแบบหยอก ๆ ว่า ตอนแรกจะตอบของดียุ้งก๋งคือ “ปุ้ยนี่แหละค่ะ” เรียกเสียงหัวเราะให้การพูดคุยเป็นการปิดท้าย
สุดสัปดาห์ถัด ๆ ไป ถ้าครอบครัวคุณยังหาจุดหมายในการพักผ่อนไม่ลงตัว เราอยากแนะนำอำเภอพนัสนิคม และร้านยุ้งก๋ง ฟาร์มแอนด์คาเฟ่ ให้คุณได้ลองไปสัมผัสดู เพราะมันคือความสุขที่ถูกส่งผ่านจากหนึ่งครอบครัว ไปยังหลายสิบหลายร้อยครอบครัวในทุก ๆ สุดสัปดาห์

แล้วคุณจะรู้ว่า การจองโต๊ะเที่ยง แต่ลากยาวไปกลับตอนโพล้เพล้ มันมีอยู่จริง